เทคโนโลยีกับการศึกษา พัฒนาหรือทำลาย

307 อ่าน

เทคโนโลยีกับการศึกษา พัฒนาหรือทำลาย

                ปัจจุบันโลกของเราหมุนไปเร็วมาก เพราะการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และตัวมนุษย์ ทำให้เกิดการคิด วิเคราะห์ สร้างและริเริ่มนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบโจทย์และสอดรับกับความต้องการของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของโลก การศึกษาจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพยุงให้มนุษย์นั้นสามารถนำเอาความคิด ความสามารถเพื่อพัฒนา สร้าง หรือเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงการแข่งขันหลาย ๆ ด้านที่จำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ ความสามารถของมนุษย์ในการพัฒนาเพื่อให้ทันต่อความต้องการของโลก

                หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ราวปี คริสต์ศักราช 1990 หรือยุคที่ทุกคนเรียกกันจนคุ้นชินกันว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างๆ จนปัจจุบันถ้าได้ยินใครพูดว่า ยุคนั้น ยุคนี้ ก็จะสามารถอธิบายได้ว่ามีเรื่องราว นวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง? ซึ่งแน่นอนว่าจะแตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ทำไมถึงบอกว่าเป็นยุคที่มีความแตกต่างกว่าปัจจุบัน กล่าวคือ ยุคแต่ละยุคนั้นมีการพัฒนาด้านการศึกษาและเทคโนโลยีควบคู่กันไปอย่างเหมาะสมและถูกคิดค้นให้ใหม่มาเรื่อย ๆ กระทั่งแม้จะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กันมาก การเข้าถึง การเข้าใจในตัวแต่ละบุคคล การเป็นสังคมที่จับต้องความรู้สึก นึกคิดและจิตใจกันได้ จนเกิดเป็นเรื่องราวแห่งการเข้าสังคม  การปรับตัว การยอมรับเชื่อถือ หรือเกิดเป็นวิธีปฏิบัติตัวต่อสังคมได้อย่างเหมาะสม

                เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการศึกษามากขึ้นจึงทำให้วัฒนธรรมการเป็นอยู่เปลี่ยนไป? ถือเป็นสิ่งที่สังคมต้องตระหนักถึงและเข้าใจถึงมุมมองอีกมุมมองหนึ่งว่า หากสังคมการศึกษาที่ถูกยกระดับขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทุ่นแรง ลดระดับขั้นตอนการเข้าถึงของตัวบุคคล หรือตอบสนองความต้องการที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวให้เห็นภาพคือ เมื่อก่อนนั้นวัฒนธรรมการศึกษามีการเข้าร่วมกิจกรรม สังคมการพบปะ การสื่อสาร แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยการเน้นช่วงทำกิจกรรมร่วมกัน ศึกษาร่วมกันและสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้น หากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการศึกษาและการตัดสินใจนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีก็จริง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นฐาน มุมมองของแต่ละบุคคลนั้นไป ทำให้เกิดการยอมรับต่อสังคมร่วมกันน้อยลง อีกทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ยกตัวอย่างการใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่บนโลกออนไลน์นั้นย่อมมีทั้งข้อมูลจริงและเท็จ ทำให้เป็นไปได้ว่าหากผู้บริโภคข้อมูลผิดก็ส่งผลต่อการเลือกคิด หรือตัดสินใจที่ผิด ๆ ได้

                การศึกษากับเทคโนโลยีนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป และช่วยในเรื่องของการส่งเสริมเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ แต่หากขาดการเข้าถึง วิเคราะห์ถึงปัญหาช่องว่างระหว่างความเชื่อมโยงกัน ที่ในอนาคตย่อมจะส่งผลต่อวัฒนธรรมสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วนั้น หากมองข้ามหรือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยไม่ได้รับการแก้ปัญหา จากเดิมที่เทคโนโลยีคือตัวช่วยที่ดีต่อการศึกษา อาจเป็นมุมมืดที่คอยจ้องทำลายล้างวัฒนธรรมดีดีที่สังคมเคยมีได้ในอนาคต